ความเป็นมา

จังหวัดนนทบุรีเป็นแหล่งปลูกทุเรียนมายาวนาน และเป็นแหล่งพันธุกรรมสำคัญของพันธุ์ทุเรียน ซึ่งได้ชื่อว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องคุณภาพ แต่ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาพันธุ์ทุเรียนและพื้นที่สวนทุเรียนเริ่มสูญหายไป เนื่องมาจากการพัฒนาเมืองที่รุกล้ำ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวสวนและสภาพภูมิอากาศของโลก ยิ่งไปกว่านั้น มหาอุทกภัยในภาคกลางของประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้สร้างความเสียหายรุนแรงต่อพื้นที่สวนทุเรียน โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์ท้องถิ่นหลายพันธุ์ที่เกรงว่าอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว 

นนทบุรีเป็นแหล่งปลูกไม้ผลเก่าแก่ที่มีหลักฐานอ้างอิงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และหนึ่งในผลไม้คุณภาพดีของจังหวัดนนทบุรีก็คือ ทุเรียน (Durio zibethinus L.) ซึ่งมีกล่าวถึงในหลายแห่งว่ามีมากมายกว่า ๒๐๐ พันธุ์ มีเอกลัษณ์โดดเด่น เป็นชื่อเสียงของจังหวัดที่ควรได้รับการอนุรักษ์ไว้ เพื่อเป็นต้นทุนในการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาผลผลิต รวมทั้งเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม รวมทั้งสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน อันจะส่งผลให้ทุเรียนนนท์ประสบปัญหาและอาจสูญพันธุ์ได้ โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง 

“โครงการอนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์” จึงจัดทำขึ้นเพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองนนท์ จำนวน ๖๐ สายพันธุ์ ภายใต้วิถีชาวสวนนนท์ด้วยการจำลองพื้นที่สวนนนท์ ยกร่อง ปลูกไม้แซม สืบค้นกล้าพันธุ์ทุเรียนนนท์มาอนุรักษ์ ภายใต้ภูมิปัญญาของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รวบรวมเป็นข้อมูลองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ทุเรียนนนท์จากพื้นที่จริง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการศึกษา ค้นคว้า และปรับปรุงวิธีการในการปลูกทุเรียนนนท์พันธุ์ต่างๆ ได้ต่อไป 

เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริลงในพื้นที่ จังหวัดนนทบุรีจึงได้พิจารณาให้เทศบาลนครปากเกร็ดดำเนินการปรับสภาพพื้นที่ ๗ ไร่ ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ นนทบุรี พร้อมจัดประชุมร่วมกับปราชญ์ทุเรียน เกษตรกร และภาคส่วนต่างๆ ในการปรับสภาพดิน กำหนดพื้นที่สวนทุเรียนนนท์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วิถีและภูมิปัญญาชาวสวนนนท์ และศูนย์เรียนรู้ภายในสวน โดยการแบ่งพื้นที่ในสวนสมเด็จฯ ส่วนที่จะดำเนินการออกเป็น ๓ ส่วน ดังนี้
          ส่วนที่ ๑ ส่วนลานทรงปลูก กำหนดให้มีพื้นที่ทรงปลูกทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองนนท์ จำนวน ๓ ต้น บริเวณด้านหน้าโครงการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์ และร่วมโครงการในการสร้างศูนย์เรียนรู้วิถีและภูมิปัญญาชาวสวนนนท์ ที่จะจัดทำขึ้นในพื้นที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ นนทบุรี 
         ส่วนที่ ๒ ส่วนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เรือนไทย พื้นที่ประมาณ ๓๐๐ ตร.ม. ในลักษณะศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นส่วนจัดแสดงวิถีและภูมิปัญญาชาวสวนนนท์ พระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พันธุ์ไม้ประจำของสวนสมเด็จฯ ทั้ง ๑๒ สวน โดยเทศบาลนครปากเกร็ดเป็นผู้ดำเนินการออกแบบ และจัดทำผังรายละเอียดโครงการ
          ส่วนที่ ๓ ส่วนสวนทุเรียนนนท์ พื้นที่ประมาณ ๓ ไร่เศษ ดำเนินการถมดินในสวนสมเด็จฯ โดยใช้ดินจากสวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีพร้อมจัดทำเป็นร่องสวน กำหนดพื้นที่ในการปลูกทุเรียน ทองหลาง มังคุดและไม้พื้นเมือง จัดทำระบบระบายน้ำ ร่องสวน เพื่อสร้างสวนให้มีลักษณะของสวนทุเรียนนนท์